การเคี้ยวสามารถกระตุ้นการทำงานของสมองได้ !
เคยไหม? กินไปด้วย อ่านหนังสือไปด้วย (โดยเฉพาะช่วงสอบ) ทำไมมันถึงมีสมาธิกว่านั่งอ่านเฉยๆ
ในทางตรงกันข้าม นั่งอ่านหนังสือเฉยๆ บางทีก็จะหลับ อ่านแล้วง่วงมากๆ
วันนี้ผมมีเรื่องที่น่าสนใจมานำเสนอ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเคี้ยวและการทำงานของสมอง มันช่วยเสริมกันอย่างไร ไปดูกัน…!
ในปี 2009 2010 2012 และ 2015 Allen และ Smith ได้ตีพิมพ์การวิจัยและบทความทางวิทยาศาสตร์รวม 4 เรื่องเกี่ยวกับการเคี้ยวในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง โดยสรุปเอาไว้ว่า การเคี้ยวสามารถ…
1. ทำให้ตื่นตัวมากขึ้น
2. เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้
3. ทำให้อารมณ์ดีขึ้น
4. เพิ่มสมาธิ
5. ทำให้ปฏิกิริยาและการตอบสนองดีขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม การเคี้ยวไม่ได้เพิ่มความสามารถในการจำโดยตรง เราสามารถจำสิ่งที่เราอ่านได้จากประโยชน์ข้างต้นนั่นเอง
“ฟังดู ประโยชน์จากการเคี้ยวก็เยอะแยะมากมาย ว่าแต่…ทำไมมันถึงบูสต์สมองเราได้ขนาดนั้น?”
ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับฮิปโปโปเตมัสในป่าใหญ่นะครับ ฮิปโปแคมปัส คือ สมองส่วนที่เกี่ยวข้องการกับการเรียนรู้ การรับรู้ หรือการจัดการกับความทรงจำ เช่น การเกิดความทรงจำระยะสั้น หรือการดึงความทรงจำระยะยาวมาใช้ เป็นต้น จากหลายๆ งานวิจัยก็พบว่า การเคี้ยวสามารถส่งสัญญานเชื่อมต่อไปยังสมองของเรามากหมายหลายส่วนครับ ไม่ใช่แค่เพื่อประมวลผลสิ่งที่เราเอาเข้าปากแล้วเคี้ยวเพียงอย่างเดียว แต่ยังพบว่ามีการส่งสัญญานไปเจ้าฮิปโปแคมปัสด้วย แล้วยังไปช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ให้ดีขึ้นอีกด้วย
สัญญาณกระตุ้นจากการเคี้ยวสามารถเดินทางไปหาสมองของเราได้ 2 ทาง
1. ผ่านกระแสประสาท (Neuronal Pathway) คือ พอเรามีการเคี้ยว ความรู้สึกจากฟัน กระพุ้งแก้ม ลิ้น เป็นต้น ความรู้สึกเหล่านี้จะส่งสัญญาณไปที่ระบบประสาทส่วนกลางของเราทันที เพื่อประมวลผลอะไรก็ตามที่วางอยู่บนฟันของเรา แล้วความรู้สึกนี้จะไปกระตุ้นสมองที่เสริมสร้างการเรียนรู้ของเราอีกต่อหนึ่ง
2. ผ่านเลือดและของเหลวในร่างกาย (Humoral Pathway) คือ เมื่อเราเคี้ยว ร่างกายเราจะสร้างสารเคมีขึ้นมาเพื่อเป็นตัวปรับสมดุล (Nerve Growth Factors and others – NGF) ซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ผสมอยู่ในน้ำลายของเรานั่นเอง มันสามารถส่งตรงไปถึงสมองเราได้เช่นกัน และที่น่าสนใจคือ คนที่มีการสบฟันผิดปกติไป หรือไม่มีฟันเหลืออยู่เลย ปริมาณของสารเคมีดังกล่าวจะลดลง และถูกส่งไปยังสมองน้อยลงนั่นเอง (negative feedback of HPA axis in hippocampus region)
ทุกคนคงเห็นแล้วว่า การมีฟันอยู่ในช่องปากเราและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลต่อชีวิตเราในทุกๆ ด้าน รวมไปถึงด้านการทำงานของสมองด้วยนะเนี่ย ดังนั้น เราทุกคนต้องดูแลช่องปากของเราให้ดีตลอดเวลา ฟันจะได้อยู่กับเรานานๆ นะครับ
แล้วตอนกิน ก็เลือกสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และกินอย่างพอดีนะครับ อ่านไป กินไป เพลิน สุดท้ายอ้วน ก็ไม่ดีนะครับ ฮ่าๆๆ และถ้าอยากเคี้ยวหมากฝรั่งเมื่อต้องการสมาธิ แนะนำให้เลือกหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาลนะครับ จะดีต่อสุขภาพช่องปากของเราด้วย ^^
ใครสนใจด้านการเคี้ยวอาหารกับการทำงานสมองเป็นพิเศษ อยากร่วมพัฒนานวัตกรรมไปกับเรา อย่าลืมมาสมัครเรียนกันนะค้าบบบบ
อย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามด้วยนะครับ ^^
อ้างอิง:
1. Allen, A. P., & Smith, A. P. (2015). Chewing gum: cognitive performance, mood, well-being, and associated physiology. BioMed research international, 2015, 654806. https://doi.org/10.1155/2015/654806
2. Chen, H., Iinuma, M., Onozuka, M., & Kubo, K. Y. (2015). Chewing Maintains Hippocampus-Dependent Cognitive Function. International journal of medical sciences, 12(6), 502–509. https://doi.org/10.7150/ijms.11911
3. Smith A. Effects of chewing gum on mood, learning, memory and performance of an intelligence test. Nutr Neurosci. 2009 Apr;12(2):81-8. doi: 10.1179/147683009X423247. PubMed PMID: 19356310.
4. Smith A. Effects of chewing gum on cognitive function, mood and physiology in stressed and non-stressed volunteers. Nutr Neurosci. 2010 Feb;13(1):7-16. doi: 10.1179/147683010X12611460763526. PubMed PMID: 20132649.
5. Allen AP, Smith AP. Effects of chewing gum and time-on-task on alertness and attention. Nutr Neurosci. 2012 Jul;15(4):176-85. doi: 10.1179/1476830512Y.0000000009. Epub 2012 Apr 3. PubMed PMID: 22583804.
6. Krishnamoorthy, G., Narayana, A. I., & Balkrishanan, D. (2018). Mastication as a tool to prevent cognitive dysfunctions. The Japanese dental science review, 54(4), 169–173. https://doi.org/10.1016/j.jdsr.2018.06.001