logo-full-v2

โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal neuralgia)

โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal Neuralgia)

แค่ชื่อโรคก็ฟังดูน่ากลัวแล้วใช่ไหมครับ ฮ่าๆ ที่ต้องเอามาพูดวันนี้เพราะเป็นโรคที่ค่อนข้างพบได้บ่อยในคนไทยอยู่เหมือนกันครับ จึงจะมาเล่าให้ฟัง หากใครประสบอาการเหล่านี้อยู่ ก็จะได้ไม่ต้องกังวลและไปปรึกษาทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องนะครับ
 
วันนี้ ผมจะพามารู้จักโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า หรือ ไตรเจมินอล นูรอลเจีย จากประสบการณ์ โรคนี้เป็นโรคที่ค่อนข้างพบได้บ่อยครับ โดยส่วนมากพบในเพศหญิงวัยกลางคน (ช่วงอายุ 45 – 60 ปี) มักจะมาหาหมอด้วยอาการ
 
– ปวด เจ็บแปร๊บๆ เหมือนโดนเข็มจิ้ม หรือเสียว บริเวณฟัน เหงือก และใบด้านซีกใดซีกหนึ่งโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
– ตรวจฟันแล้วไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการปวด
– มักจะเป็นเมื่อแปรงฟัน สัมผัส ดื่มน้ำ โดนลมพัด
– จะรู้สึกปวดปานกลางถึงมาก
โดยพบได้ 2 แบบครับ 1) แบบเป็นๆ หายๆ 2) แบบปวดตลอดเวลา
 
จากงานวิจัยของ Sathasivam et al (2017) ศึกษาในชาวเอเชียก็รายงานไว้เช่นกันว่าโรคนี้มักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ประมาณ 1.5 เท่า และอายุที่พบเฉลี่ยอยู่ที่ 58.2 ปี
 
ดังนั้น โรคนี้ค่อนข้างซีเรียสมากเลยทีเดียว ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในแต่ละวัน เพราะจากปากหลายๆ คน ก็บอกว่ามันทรมานอยู่เหมือนกัน
 
“โรคนี้เกิดจากอะไร?”
ปัจจุบันสาเหตุของโรคนี้ยังคงไม่ฟันธง แต่ทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับมาก (เนื่องจากผ่าตัด หรือรักษาแล้วอาการดีขึ้น) ได้แก่ การทำงานผิดปกติของก้านสมอง ตัวรับความรู้สึกภายในสมอง และปัญหาหลอดเลือดสมองโปร่งพองและกดทับขั้วประสาท โดยทฤษฎีหลอดเลือกสมองกดทับได้ยอมรับมากที่สุดอันดับ 1
 
“มันคืออย่างงี้ครับ”
 
เส้นประสาทของเราจะมีเยื่อหุ้มอยู่ เรียกว่า “ไมอีลินชีธ” (myelin sheath) ต้นทางของเส้นประสาทของเราก็มาจากสมองและระบบประสาทส่วนกลางไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของใบหน้า ปกติแล้วเยื่อหุ้มไมอีลินชีธของระบบประสาทส่วนกลางจะทนแรงกดได้น้อยกว่าระบบประสาทส่วนปลาย ซึ่งตอนมันจะออกจากระบบส่วนกลาง มันจะผ่านประตูเชื่อมระหว่างส่วนกลางกับส่วนปลายของระบบประสาท และเป็นจุดเปลี่ยนของไมอีลินชีธที่ต่างกันด้วย แต่ตรงประตูเชื่อมตรงนี้แหละที่ดันมีเส้นเลือดมาวกไปเวียนมาแถวๆ นี้ด้วย วันดีคืนดีเส้นเลือดตรงนี้มันโปร่งพองขึ้นมา มันก็จะไปกดตรงประตูเชื่อมส่วนกลางและส่วนปลาย ทำให้กระแสประสาททำงานผิดปกติไป
 
“แล้วรักษาอย่างไร?”
 
1. วิธีไม่ผ่าตัด – รักษาด้วยการกินยา ติดตามอาการและตรวจร่างกายเป็นประจำ เพราะพอเป็นแล้วมักไม่หายขาด จึงต้องมีการติดตามอาการประจำ หากอาการดีขึ้นก็จะลดปริมาณยาลงเรื่อยๆ จนอาการหยุดกำเริบ
2. วิธีผ่าตัด – มักจะใช้เมื่อดื้อต่อการใช้ยา กินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นเลยถึงจะพิจารณาผ่าตัด แต่ส่วนใหญ่ทานยาแล้วก็ดีขึ้นนะครับ
ดังนั้น ใครประสบพบเจออาการเหล่านี้ ไม่ต้องตกใจและกลัวไปครับ ไปพบหมอหรือหมอฟันก็ได้ พอได้รับการรักษาแล้วอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นครับ
 
ใครอยากพัฒนานวัตกรรมรักษาผู้ป่วยแบบไม่ธรรมดา หรือจะพัฒนาเทคโนโลยี AI กับการรักษาผู้ป่วย ก็อย่าลืมมาสมัครกับพวกเรานะค้าบบบ มันส์แน่น๊อนนนน
อย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามด้วยนะค้าบบบ
 
อ้างอิง:
1. Sathasivam HP, Ismail S, Ahmad AR, et al. Trigeminal neuralgia: a retrospective multicentre study of 320 Asian patients. Oral Surg Oral Med Oral Pathol Oral Radiol. 2017;123(1):51‐57. doi:10.1016/j.oooo.2016.08.005
2. Yadav, Y. R., Nishtha, Y., Sonjjay, P., Vijay, P., Shailendra, R., & Yatin, K. (2017). Trigeminal Neuralgia. Asian journal of neurosurgery, 12(4), 585–597. https://doi.org/10.4103/ajns.AJNS_67_14
Scroll to Top