logo-full-v2

ฟันหลุดเป็นเรื่องธรรมดา

“คนเราอายุมากขึ้น ฟันก็หลุดเป็นเรื่องธรรมดานั่นแหละ !!” จริงหรือ? ถ้าเราอายุมากขึ้น เราจำเป็นต้องมีฟันหลุดเป็นธรรมดาขนาดนั้นเลยหรือ?

ฟันของคนเรามีหน้าที่สำคัญคือบดเคี้ยวอาหาร นี่คือสิ่งที่สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับทุกคนได้แน่นอนครับ ลองจินตนาการกันดูได้เลยว่าถ้าเราฟันหายไป ปัญหาเรื่องการเคี้ยวอาหารของเราจะเป็นอย่างไร จากที่เราเคยใช้ฟันเพื่อเคี้ยวสเต็กวากิว A5 พอฟันเราหลุดร่วงไป การเคี้ยวเนื้อฟินๆแบบนั้นคงลำบากน่าดู จริงไหมครับ งานวิจัยของ Gerritsen et al (2010) ก็ได้ยืนยันแล้วว่าหากฟันหลุดร่วงไปจะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์อย่างแน่นอน ถึงไม่ต้องมีงานวิจัยใดมาคอนเฟิร์ม ทุกคนคงทราบดีว่าเราคงเคี้ยวอาหารไม่อร่อยหรอก ถ้าฟันเราหายไป

      นอกจากนี้การศึกษาของ Brown (2009) ก็รายงานว่า การที่เราไม่มีฟันเหลือเลยซักซี่ก่อนวัย 65 ปีเนี่ยครับ สามารถเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากสาเหตุด้านสุขภาพใดๆ ก็ตามมากถึง 19% แม้จะมีฟันเทียมใส่ โอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก็ยังมากถึง 10% เลยนะครับ ไม่ใช่เพียงแค่นั้น ในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่แล้วด้วยเนี่ย Peng et al (2019) เขายังพบว่ามันเกี่ยวข้องกับโรคนี้อีกด้วย และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากสาเหตุด้านสุขภาพได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผมคงไม่ต้องเอาวิจัยมายืนยันเพิ่มเติมแล้ว เราทุกคนควรจะดูแลฟันของตัวเราเองให้อยู่ได้ตลอดชีวิตนะครับ

แล้วเราจะป้องกันไม่ให้ฟันเราหลุดเลยตลอดชีวิตได้จริงๆ หรอ?

    สาเหตุส่วนใหญ่ของการสูญเสียฟันในผู้ใหญ่มักจะพบว่าเกิดจากโรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งคือโรคเหงือกอักเสบเรื้อรังจนเกิดการสูญสลายของกระดูกที่ล้อมรอบฟันเราอยู่ ลองคิดว่าฟันเราคือต้นไม้สูงแข็งแรงบึกบึน หากเราขุดดินที่คลุมรากไม้อยู่ทั้งหมดออกไปหมดหรือเกือบหมด ต้นไม้เราจะอยู่ได้อย่างไร มันคจะโยกไปมาและล้มลงทำให้บริเวณนั้นไม่ร่มเย็นเหมือนก่อน เช่นเดียวกันกับฟันของเรา หากกระดูกที่ล้อมรอบฟันละลายหายไปมากๆ เข้า ฟันของเราคงต้องถูกถอนออกไป หรือไม่ก็หลุดออกไปเอง

    อ้าว! แล้วโรคปริทันต์อักเสบเกิดจากอะไร? สิ่งที่ทำลายกระดูกรอบๆ รากฟันของเราได้ ส่วนใหญ่แล้วคือแบคทีเรียนั่นเอง โดยปกติในช่องปากเรามีแบคทีเรียอยู่แล้วล่ะ แต่หากแบคทีเรียมันอยู่ในปากของเรา เกาะตามเหงือกหรือร่องเหงือกของเรามากๆ เข้า สะสมเยอะๆ เข้า มันก็จะเพิ่มปริมาณมันเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนทำลายทั้งเหงือกรอบๆ ฟันและกระดูกบริเวณนั้น นั่นแหละ สิ่งที่ทำให้ฟันเราโยกตามมาได้ในอนาคต การสะสมของแบคทีเรียแบบนี้ จะเริ่มจากทำให้เกิดเหงือกอักเสบก่อนโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น หากคุณไม่แปรงฟันเลย คุณก็สามารถมีเหงือกอักเสบได้ตั้งแต่ 1-2 วันแรกหลังจากไม่แปรงฟันด้วยซ้ำ และหากเราไม่จัดการทำความสะอาดช่องปากหรือทำความสะอาดได้ไม่ดีพออีก การอักเสบจะนำไปสู่ความหายนะของกระดูกของเราแน่นอน และกว่ามันจะเริ่มทำลายกระดูกของเราจนเริ่มมีปัญหามันต้องใช้เวลามากถึง 10 – 20 ปี หรืออาจมากกว่านั้น “อ้าว! มันก็ตั้งนานนี่หมอ ทำไมปริทันต์อักเสบถึงเป็นสาเหตุของการสูญเสียฟันได้ล่ะ?” ใช่ครับ ใช้เวลานานนะ แต่การอักเสบของเหงือกรอบๆฟันเราบางทีมันมีอาการเล็กน้อย หรือไม่รู้สึกปวดหรือมีอาการใดๆ เลยด้วยซ้ำ นี่จึงเป็นสาเหตุที่หลายคนมองข้ามจนเกิดปัญหากับกระดูกรอบรากฟันของเราได้ ดังนั้น เราต้องไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ ทุก 6 เดือนนะครับ เพื่อกำจัดแบคทีเรียจากการสะสมของหินปูน อีกทั้งเรายังได้ตรวจฟันและช่องปากเป็นประจำอีกด้วย

อีกสาเหตุที่พบได้บ่อย คือ ฟันผุจนทะลุโพรงประสาทฟันและติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน สิ่งที่ทำให้เกิดฟันผุก็คืออาหารที่เรารับประทานเนี่ยแหละครับ โดยฟันผุเกิดจากแบคทีเรียชื่อ Streptococcus mutans เจ้าแบคทีเรียตัวแสบมันจะกินน้ำตาลและขับของเสียด้วยการสร้างกรดแลคติก (Lactic acid) บนผิวฟันไปละลายแคลเซียมบนผิวฟันจนทำให้เกิดผิวขรุขระที่ผิวฟันขึ้นมา เวลาเราแปรงฟันหากแปรงรีบๆ ขนแปรงเราจึงเข้าไปไม่ถึงตามร่องฟันหรือผิวขรุขระเหล่านั้น แบคทีเรียมันเลยสบายใจกินน้ำตาลและผลิตกรดออกมาเรื่อยๆ ทำลายผิวฟันเราไปเรื่อยๆ พอเกิดฟันผุขึ้นมา บางคนอาจไม่มีอาการเลยหากผุไม่ลึก หรือมีอาการเสียวฟันเล็กน้อยเมื่อผุลึกมากขึ้น หรือบางทีอาจจะไม่สามารถสังเกตเห็นได้เลย หากไม่ได้รับการตรวจโดยทันตแพทย์ จึงเป็นสาเหตุที่หลายคนมองข้ามไป จนฟันผุถึงแกนกลางของฟันซึ่งมีเส้นประสาทขนาดเล็กและเส้นเลือดฝอยอยู่ ถึงตอนนั้น มีอาการปวด ทันตแพทย์ก็ไม่สามารถอุดฟันปกติให้คุณได้แล้ว ต้องมีการรักษาเพิ่มเติมเพื่อเราจะได้เก็บฟันได้ หรือหากโชคไม่ดีมีฟันแตกเยอะๆ ทำให้ผู้ป่วยหลายๆ คนต้องถอนฟันออกในที่สุด ดังนั้น เราต้องดูแลฟันของเรา แปรงฟันให้ถูกวิธี (แปรงอย่างไร เดี๋ยวมาอธิบายในบทความหน้าครับ) ใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ (สามารถดูได้ที่ฉลากข้างกล่อง) และสม่ำเสมอ ห้ามขี้เกียจครับ เราจะได้มีฟันครบทุกซี่อยู่กับเราไปนานๆ ^^

สาเหตุต่อมาอาจพบได้ แต่หากเราใช้ชีวิตระมัดระวังก็ไม่มีปัญหาครับ คือ อุบัติเหตุนั่นเอง บางคนสะดุดล้ม ขับมอเตอร์ไซค์แล้วล้ม ฟันหัก ฟันบิ่น จนสุดท้ายต้องถอนฟันก็มีเยอะครับ นอกจากจะมีโอกาสสูญเสียฟันอันเป็นที่รักของเราไป เราอาจจะสูญเสียกระดูกรอบๆ รากฟันไปได้ด้วยจากที่กระดูกบริเวณนั้นแตกด้วยเหมือนกัน ไม่ต้องเป็นปริทันต์อักเสบก็สูญเสียกระดูกได้ ฮ่าๆๆ ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตระมัดระวังนะครับ

และสาเหตุสุดท้ายที่มีโอกาสพบได้ไม่บ่อยนัก และทุกคนก็คงไม่อยากให้เกิดคือ มะเร็งช่องปาก หรือเนื้องอกในช่องปาก ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้สูญเสียฟันได้เช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –

ดังนั้น หากเราอยากมีสุขภาพช่องปากที่ดี มีฟันครบทุกซี่ ไปหาหมอกี่ทีหมอก็ชมว่า ฟันสวยจัง เหงือกดีจัง ฟันไม่ผุเลย เราควร

  1. “แปรงฟันให้ถูกวิธี” นะไม่ต้องรีบ แปรงอย่างเป็นระบบ (แปรงอย่างไรเดี๋ยวมาเล่าให้ฟังตอนต่อไปครับ) ร่วมกับใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์
  2. “ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งทุกวันทุกซอกฟัน” จะช่วยให้ซอกฟันเราสะอาดหมดจดได้ เพราะตามซอกฟันแปรงสีฟันเราเข้าไปลำบากครับ ใช้ไหมขัดฟันช่วยทุกร่องฟันจะช่วยให้สะอาดทุกจุด หลายคนคง… โอ้ยย ขี้เกียจจัง ทุกวันเลยหรอ ถูกต้องแล้ว ช่วงแรกๆ ทุกคนจะรู้สึกขี้เกียจ ทำไปซักพักจนเลยจุดขี้เกียจมาได้ ทุกคนจะขาดมันไม่ได้เลยล่ะ
  3. “ไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน” คิดซะว่าฟันของเราคือรถที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด มันต้องมี Maintenance กันบ้างแหละ เจอจุดที่มีปัญหาที่เรามองไม่เห็น คุณหมอเขาจะแนะนำคุณได้ครับ
  4. “ดื่มน้ำเปล่าเรื่อยๆ ทั้งวัน” เพราะว่าเราไม่อยากให้กรดเจ้าแบคทีเรียมันอยู่ที่ฟันเรานานๆ ดังนั้น ล้างมันออกไปเรื่อยๆ ครับ จะได้ฟันไม่ผุ แถมยังลดแบคทีเรียที่ทำให้เหงือกอักเสบได้อีกด้วย
  5. “ไม่สูบบุหรี่” นอกจากจะปอดดีแล้ว ช่องปากเราก็ดีด้วย
  6. อันนี้ขอแถม “เวลาทานของหวานเสร็จ ให้บ้วนปากด้วยน้ำเปล่าทันที จนไม่รู้สึกถึงความหวานในช่องปาก” หรือจะบ้วนน้ำยาบ้วนปากฟลูออไรด์เลยยิ่งดีครับ ป้องกันฟันผุกัน

หากทำได้ตามนี้ ทุกคนจะมีความสุขกับช่องปากสุขภาพดีไปตลอดชีวิตได้แน่นอนครับ EP หน้าจะมีอะไร รอติดตามกันนะครับ

– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
อ้างอิง

  1. Gerritsen, A. E., Allen, P. F., Witter, D. J., Bronkhorst, E. M., & Creugers, N. H. (2010). Tooth loss and oral health-related quality of life: a systematic review and meta-analysis. Health and quality of life outcomes, 8, 126. https://doi.org/10.1186/1477-7525-8-126
    2. Friedman, P. K., & Lamster, I. B. (2016). Tooth loss as a predictor of shortened longevity: exploring the hypothesis. Periodontology 2000, 72(1), 142–152. doi:10.1111/prd.12128
  2. Peng, J., Song, J., Han, J., Chen, Z., Yin, X., Zhu, J., & Song, J. (2019). The relationship between tooth loss and mortality from all causes, cardiovascular diseases, and coronary heart disease in the general population: systematic review and dose-response meta-analysis of prospective cohort studies. Bioscience reports, 39(1), BSR20181773. https://doi.org/10.1042/BSR20181773
    4. Brown DW. Complete edentulism prior to the age of 65 years is associated with all-cause mortality. J Public Health Dent. 2009 Fall;69(4):260-6. doi: 10.1111/j.1752-7325.2009.00132.x. PubMed PMID: 19453862.
  3. Lovegrove JM. Dental plaque revisited: bacteria associated with periodontal disease. J N Z Soc Periodontol. 2004;(87):7-21. Review. PubMed PMID: 15143484.
  4. Schätzle M, Löe H, Lang NP, Bürgin W, Anerud A, Boysen H. The clinical course of chronic periodontitis. J Clin Periodontol. 2004 Dec;31(12):1122-7. doi: 10.1111/j.1600-051X.2004.00634.x. PubMed PMID: 15560816.
Scroll to Top