logo-full-v2

ยาสีฟัน เลือกอย่างไรดี

ยาสีฟัน เลือกอย่างไรดี? ยาสีฟันที่ทุกคนใช้อยู่ในปัจจุบัน ดีต่อสุขภาพช่องปากและฟันแล้วหรือยัง?

“ทำไมหมอถึงต้องมาพูดถึงการเลือกยาสีฟันด้วยล่ะ?”

คำตอบคือ ผมสังเกตว่าหลายๆคนจะชอบยาสีฟันที่

1) ต้องรู้สึกสดชื่น เผ็ดๆ แบบนี้ปากเราจะสะอาดหมดจดแน่ๆ

2) เนื้อยาสีฟันเป็นผงๆ หรือมีผงขัดรู้สึกเป็นเม็ดๆผสมอยู่ในยาสีฟัน แบบนี้รับรองขัดคราบได้สะอาดหมดจดแน่ๆ

3) รสชาติต้องอร่อย กลิ่นหอม

หรือจริงๆอาจจะมีเหตุผลมากกว่านี้ในการเลือกยาสีฟันของแต่ละคนครับ

วันนี้จะมาแบ่งปันวิธีการเลือกยาสีฟันครับ ลองสังเกตกันดูนะครับว่าปัจจุบันเราเลือกยาสีฟันกันอย่างไร แล้วยาสีฟันที่เราใช้อยู่ปัจจุบันมันมีผลเสียกับเราหรือไม่ ไปเริ่มกัน

  1. ยาสีฟันต้องมีส่วนผสมของฟลูออไรด์

ฟลูออไรด์สามารถป้องกันฟันผุได้ ทำให้ผิวฟันแข็งขึ้น อีกทั้งยังสามารถคืนแร่ธาตุสู่ผิวฟันได้อีกด้วย โดยมันจะแทรกซึมเข้าไปในผลึกแคลเซียมบนผิวฟันของเรานั่นเอง ยาสีฟันที่เราใช้กันจะมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ประมาณ 1000 – 1500 ppm ทุกคนจะเห็นได้จากฉลากข้างกล่อง จะเขียนว่า “Sodium Fluoride” หรือ “Sodium Monofluorophosphate” เป็นต้น ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน ขอแค่เห็นคำว่า “-fluoro-” ถือว่าใช้ได้ครับ นอกจากนี้ หากใครมีฟันผุระยะเริ่มต้น (Initial caries) มันยังสามารถซ่อมแซมผิวฟันให้กับเราได้ด้วย

– ย้ำว่าฟันผุระยะเริ่มต้นนะครับ หากเกิดเป็นรู เป็นหลุมแล้วล่ะก็ ต้องไปอุดฟันอย่างเดียวเลยครับ

– ลักษณะของฟันผุเริ่มต้น ผิวฟันจะมีสีขาวขุ่น ไม่มีหลุม

นอกจากนี้ ยาสีฟันสมุนไพรบางประเภทที่มีสารสกัดของ “ชา” ก็มีฟลูออไรด์ได้เหมือนกันนะ อ่านไม่ผิดแน่นอนครับ จากงานวิจัยของ Das et al ในปี 2017 รายงานว่า “ชา” ที่เราดื่มกัน มีส่วนผสมของฟลูออไรด์เช่นกัน โดยพบว่ามีความเข้มข้นที่ประมาณ 296 – 1112 ppm นั่นเอง ดังนั้น หากจะเลือกใช้ยาสีฟันสมุนไพร ต้องมั่นใจว่ามีฟลูออไรด์ หรือชาเป็นส่วนผสม ที่เห็นกันบ่อยๆ คือ ชาเขียวนั่นเองครับ

  1. เนื้อไม่หยาบ หรือมีผงขัดเกร็ดเล็ก

หลายคนอาจจะคิดว่า การมีผงขัดเม็ดใหญ่ๆ หรือยาสีฟันที่เป็นผงสามารถกำจัดคราบฟันได้ดี อื้ม….จริงๆก็ไม่ผิดนะครับ เพียงแต่ หากแปรงผิดวิธี มันจะขัดทั้งคราบไบโอฟิล์มและผิวฟันของเราออกไปด้วยเลยน่ะสิ ผลที่ตามมา (พบบ่อยมากด้วย) คือ “คอฟันสึก” ซึ่งเกิดจากการใช้ยาสีฟันที่มีความสามารถในการขัดสูงนั่นเอง ดังนั้น ใครมีคอฟันสึกอยู่แล้ว กลับไปสำรวจยาสีฟันด่วนเลยครับ

การดูว่ายาสีฟันอะไรมีความสามารถในการขัดเป็นอย่างไรนั้น เรามักจะต้องลองใช้ยาสีฟันนั้นก่อน เพราะในฉลากข้างกล่องยาสีฟันเขาไม่ได้บอกกันตรงๆครับ จะมีบอกเป็นแค่ส่วนประกอบ

โดยปกติแล้วยาสีฟันจะถูกนำมาวัดความสามารถในการขัดออกมาเป็นค่า RDA (Relative Dentin Abrasiveness) หาก RDA มากๆ จะมีความสามารถในการขัดสูง โดย RDA ที่เหมาะสมอยู่ที่ 0 – 150 ซึ่งผงขัดที่เรามักจะพบในยาสีฟัน เช่น

1) Hydrated Silica มี RDA ประมาณ 40 – 120

2) Silica มี RDA ประมาณ 60 – 140

3) Calcium Carbonate มี RDA ประมาณ 80 – 120

4) Pumice มีหลายความหยาบ แต่ในยาสีฟันมักพบว่ามี RDA 170 – 250

นี่คือชื่อผงขัดที่พบได้บ่อยในยาสีฟันครับ อย่างไรก็ตาม ทุกคนอาจจะเจอผงขัดอื่นๆได้บาง ซึ่งเราสามารถเข้าไปตรวจสอบ RDA ได้

โดยสรุป>> เราควรเลือกยาสีฟันที่เป็นเนื้อครีม หรือเจลครับ

  1. เลือกให้ตรงตามปัญหาสุขภาพช่องปาก

นอกจากส่วนผสมที่กล่าวไปข้างต้น ในยาสีฟันอาจจะใส่สารสกัดอื่นๆเพิ่มเติมครับ เช่น ยาฆ่าเชื้อ สารลดอาการเสียวฟัน เป็นต้น ดังนั้น เมื่อยาสีฟันที่คุณสนใจมีข้อ 1 และ ข้อ 2 แล้ว ก็ต้องมาดูอาการ หรือปัญหาสุขภาพช่องปากที่คุณมี

  1. กลิ่นและรสชาติ

อันนี้หมอขอไม่แนะนำอะไรมาก เลือกได้ตามใจชอบเลยคร้าบบบบ

———-

สุขภาพช่องปากที่ดี ต้องเริ่มจากปัจจัยพื้นฐานเลยแหละครับ นอกจากจะไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือนแล้ว การดูแลช่องปากด้วยตัวเองถือเป็นสิ่งสำคัญมากๆครับ การเลือกยาสีฟันก็เช่นกัน หากเราเลือกไม่เหมาะสม การแปรงฟันจะกลายเป็นการทำร้ายฟันเราแทนซะอย่างนั้น

อย่าลืมติดตามตอนต่อไป กดไลค์ กดแชร์ กดติดตามให้หมอด้วยนะครับ ^^

———-

อ้างอิง:

  1. Das, S., de Oliveira, L. M., da Silva, E., Liu, Y., & Ma, L. Q. (2017). Fluoride concentrations in traditional and herbal teas: Health risk assessment. Environmental Pollution, 231, 779-784. doi: https://doi.org/10.1016/j.envpol.2017.08.083
  2. Johannsen, G., Tellefsen, G., Johannsen, A., & Liljeborg, A. (2013). The importance of measuring toothpaste abrasivity in both a quantitative and qualitative way. Acta odontologica Scandinavica, 71(3-4), 508–517. https://doi.org/10.3109/00016357.2012.696693
  3. https://www.wikihow.health/Choose-a-Toothpaste
  4. https://www.nhs.uk/conditions/fluoride/
  5. http://betterteeththailand.com/…/what-to-look-for-when-cho…/
Scroll to Top